พระราชวังต้องห้าม หรือ พระราชวังกู้กง เป็นพระราชวังโบราณซึ่งยังคงเหลืออยู่ ตั้งอยู่ที่ใจกลางกรุงปักกิ่ง เป็นทั้งบ้านและชีวิตของจักรพรรดิในราชวงศ์หมิงและชิงรวมทั้งสิ้น 24 พระองค์ พระราชวังเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 500 ปี มีชื่อในภาษาจีนว่า ‘กู้กง’ หมายถึงพระราชวังเดิม มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘จื่อจิ้นเฉิง’ ซึ่งแปลว่า ‘พระราชวังต้องห้าม’ เหตุที่เรียกพระราชวังต้องห้าม เนื่องมาจากชาวจีนถือคติในการสร้างวังว่า จักรพรรดิเปรียบเสมือนบุตรแห่งสวรรค์ ดังนั้นวังของบุตรแห่งสวรรค์จึงต้องเป็น ‘ที่ต้องห้าม’ คนธรรมดาสามัญไม่สามารถล่วงล้ำเข้าไปได้
พระราชวังต้องห้าม เป็นพระราชวังหลวงมาตั้งแต่สมัยกลางราชวงศ์หมิงจนถึงราชวงศ์ชิง ตั้งอยู่ด้านหลังพลับพลาเทียนอันเหมิน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวจากเหนือจรดใต้ 961 เมตร กว้าง 753 เมตร มีกำแพงวังล้อมรอบ ยาว 3 กิโลเมตร สูง 10 เมตร มีคูน้ำล้อมรอบ กว้าง 52 เมตร มีประตูวัง 4 ประตู 4 ทิศ มีป้อมหอคอยกำแพงวังอยู่ 4 มุม ครอบคลุมพื้นที่ 720,000 ตารางเมตร อาคาร 800 หลัง มีห้องทั้งหมด 9,999 ห้อง และมีพระที่นั่ง 75 องค์ ใช้ระยะก่อสร้างประมาณ 14 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 1949 จนถึง พ.ศ. 1963
ในอดีตภายในเป็นที่ประทับของจักรพรรดิ โดยมีสนมกำนัล ขันที และข้าหลวงรับใช้ ซึ่งคนเหล่านี้ต้องอาศัยอยู่ในนครต้องห้ามตลอดชีวิต เพื่อความสำราญของจักรพรรดิ ในวังจะมีวิเสท 6,000 คน ประกอบพระกระยาหาร มีสนมกำนัล 9,000 นาง ซึ่งมีขันที 70,000 คน คอยดูแล มีคำเล่าลือกันว่า พระนางซูสีไทเฮา เวลาเสวยก็จะมีพระกระยาหารถึง 148 ชุด และทรงส่งขันทีไปเสาะหาชายหนุ่มซึ่งเข้าวังแล้วจะไม่มีผู้ใดพบเห็นอีกเลย
ภายในพระราชวังแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ วังหน้าและวังใน
• วังหน้าเป็นเขตที่ฮ่องเต้ออกว่าราชการ จัดงานพิธีต่างๆ รับเข้าเฝ้า
• วังในเป็นเขตหวงห้าม ผู้ชายห้ามเข้า ยกเว้นขันทีเท่านั้น
วังหน้า มี 3 ตำหนัก เป็นศูนย์กลางที่สร้างอยู่บนเส้นแกนตรงกันเป็นเส้นตรง ดังนี้
1.ตำหนักไถ่เหอ เป็นตำหนักด้านหน้าที่สำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุดในพระราชวังหลวง ตั้งอยู่บนแท่นหินหยกขาวยกพื้นสูง 2 เมตรเศษ ล้อมรอบด้วยรั้วหินหยกขาว แกะสลักเป็นเมฆ มังกร และหงส์ สร้างในปีค.ศ. 1420 สมัยของพระเจ้าหย่งเล่อ กว้าง 11 เมตร ลึก 5 เมตร หลังคาซ้อน 2 ชั้น สูง 35 เมตร พื้นที่ 2,377 ตารางเมตร ปูด้วยอิฐ(ที่นวดด้วยแป้งทองคำ) ตรงกลางมีบัลลังก์มังกรสีทอง(มังกร 5 เล็บ สัญลักษณ์ของฮ่องเต้อันสูงส่ง) ใช้เป็นสถานที่ฮ่องเต้ออกว่าราชการแผ่นดินรับการเข้าเฝ้าจากขุนนางขุนศึก ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองและอาคันตุกะชาวต่างต่างประเทศ หลังคามุงกระเบื้องสีทอง(สีเฉพาะของฮ่องเต้เท่านั้น)
2.ตำหนักจงเหอ เป็นตำหนักหลังที่ 2 อยู่ด้านหลังตำหนักไถ่เหอ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมียอดแหลม ใช้เป็นสถานที่พักรอก่อนออกว่าราชการแผ่นดิน รับการรายงานจากข้าหลวงชั้นใน รวมทั้งพิธีการจัดงานเข้าเฝ้า หากมีงานพิธีแต่งตั้งพระราชินีและจัดงานใหญ่ในพระราชวังจะต้องตรวจเอกสารความเรียบร้อยของงาน ณ ตำหนักแห่งนี้ล่วงหน้า 1 วัน
3.ตำหนักเป่าเหอ เป็นตำหนักหลังที่ 3 อยู่หลังตำหนักจงเหอ เป็นตำหนักใหญ่ มีพื้นที่เท่ากับตำหนักไถ่เหอ ภายในมีบัลลังก์ก่อสร้างโดยไม่มีเสาแถวที่ 2 ทำให้ห้องโถงด้านหน้าท้องพระโรงกว้างขึ้น ไม่บังสายพระเนตรพระองค์ฮ่องเต้ ใช้เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงรับรองบรรดาหัวหน้าชนเผ่ากลุ่มน้อยต่างๆทุกปี ในวันที่ 30 เดือน 12 (วันสิ้นปีของจีน) พิธีอภิเษกสมรสของฮ่องเต้หรือโอรสธิดา มาถึงในสมัยพระเจ้าเฉียนหลงใช้ที่นี่เป็นสถานที่สอบจอหงวน องค์ฮ่องเต้เป็นผู้ออกข้อสอบและคุมสอบด้วยพระองค์เอง โดยสอบในห้องท้องพระโรงแห่งนี้เอง
ผู้ที่สอบได้ที่ 1 มีเพียงคนเดียวเท่านั้น จะได้เป็น “จอหงวน” และเป็นลูกเขยของฮ่องเต้
ผู้ที่สอบได้ที่ 2 อาจมีหลายคน จะได้เป็น “ท่านฮั้ว” เป็นที่ปรึกษาประจำองค์ฮ่องเต้
ผู้ที่สอบได้ที่ 3 อีกหลายคน จะเรียกว่า “ป่างเหี่ยน” ดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยฮ่องเต้
วังใน เป็นเขตต้องห้ามสำหรับผู้ชาย ทาสเพศชายที่จะเข้ามารับใช้ในวังได้นั้นต้องผ่านขั้นตอนการตอนให้เป็นขันทีเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเสื่อมเสียกับมเหสีและเหล่านางสนมใน ขันทีมาจากชนชั้นยากจนเสียเป็นส่วนใหญ่ พวกพ่อค้าทาสจะลักพาตัวมาตั้งแต่เด็ก แล้วส่งไปให้คนของตระกูลไป่ในกรุงปักกิ่งทำการตอน ตอนเสร็จแล้วก็มีการออกใบรับรองส่งให้ราชสำนัก ขันทีที่ฉลาดมีการศึกษาอาจได้เป็นกุนซือหรืออาจารย์ในวังหลวง แต่ขันทีส่วนใหญ่ต้องทำงานหนักในโรงครัวและในสวนไปตลอดชีวิต ทำผิดเล็กน้อยก็จะถูกโบยถูกเฆี่ยนตี ทำผิดมากโชคไม่ดีก็อาจถูกตัดหัวได้ง่าย
การได้เข้ามารับใช้ใกล้ชิดกับพระราชวงศ์ ทำให้ขันทีบางคนสามารถกุมอำนาจเอาไว้ได้ สร้างความร่ำรวยให้ตนเองใช้ตำแหน่งใหญ่โตสร้างอิทธิพล แสวงหาทรัพย์สินเงินทองในทางมิชอบ จนสามารถซื้อบ้าน ที่ดิน ทำธุรกิจการค้านอกวังหลวง พอเกษียณแล้วจะย้ายออกไปอยู่ตามวัดที่ตนเองเคยให้การอุปถัมภ์ด้วยการบริจาคเงินจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอ ในยุคราชวงศ์หมิงมีขันทีอยู่ในพระราชสำนักถึง 20,000 คน แต่ภายหลังก็ค่อยๆลดจำนวนลงจนเหลือเพียง 1,500 คน ในรัชกาลสุดท้ายก่อนที่ราชวงศ์ชิงจะล่มสลายเมื่อปี ค.ศ. 1991
การตอนหรือการตัดอวัยวะเพศทิ้งก็ใช่จะให้ผลเป็นที่น่าเชื่อถือได้เสมอไป ข่าวลือเรื่องการลักลอบมีความสัมพันธ์กันระหว่างขันทีกับนางกำนัลก็มีให้ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง คนทั่วไปมองขันทีว่าเป็นพวกน่าสมเพช มักถูกดูหมิ่นอยู่เสมอ เพราะ การเป็นคนที่ไม่สามารถเพื่อมีบุตรสืบสกุลได้นั้นย่อมถูกเหยียดหยามเป็นธรรมดา ดังนั้นพวกขันทีที่มีอำนาจมากๆ ก็จะซื้อบ้านเอาไว้นอกพระราชวังหลวง ทำบันทึกอ้างอิงถึงการสืบทอดวงศ์ตระกูลลงมาเป็นรุ่นๆ โดยมีการซื้อสตรีและทารกมาเป็นภรรยาและบุตร ซื้อบ่าวทาสหรือแม้กระทั่งนางบำเรอหลายๆคนมาไว้ข้างกาย
เขตพระราชวังชั้นใน(วังใน) ประกอบด้วยตำหนักเฉียนชิงกง เจียวไถ่เตี่ยน คุนหมิงกง ตำหนักตะวันออกและตะวันตก เป็นสถานที่ที่ฮ่องเต้ดำเนินการประจำวันทางการเมือง อาทิ ตรวจเอกสาร ลงพระนามอนุมัติ ตัดสินความ และเป็นสถานที่พักอาศัยของพระราชวงศ์ พระราชินี พระสนม พระโอรส และพระธิดา รวมไปถึงมีพระราชอุทยานของฮ่องเต้ เขตวังในจะมีพระตำหนักที่มีความสำคัญอยู่ 2 หลังคือ
เฉียนชิงกง เป็นตำหนักด้านหน้าของวังใน เป็นที่ประทับของฮ่องเต้ เพื่อตรวจเอกสารลงพระนาม อนุมัติราชการแผ่นดินประจำวัน ต่อมาในปี ค.ศ. 1644 ทหารและชาวนาของหลี่จื้อเฉินทำการปฏิวัติ นำกำลังบุกเข้าปักกิ่ง ซึ่งตรงกับรัชกาลฮ่องเต้องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์หมิง พระเจ้าจูหยิวเจี่ยนชักกระบี่ฟันพระธิดาของพระองค์จนขาดสะพายแล่ง แล้วทรงหนีออกจากพระราชวังไปแขวนคอตายที่ต้นสน ณ ภูเขาเหมยซาน(ปัจจุบันเรียกว่า ภูเขาจิ่งซาน) ซึ่งอยู่ด้านหลังพระราชวังหลวง
หย่างซินเตี้ยน เป็นตำหนักอยู่บริเวณด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวังใน เป็นที่ประทับของฮ่องเต้ นัดพบปะพูดคุยกับพวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งเรื่องการเมือง และการทหารในรัชสมัยพระเจ้าถงจื้อ และกวางซี่ใช้เป็นสถานที่ออกว่าราชการหลังม่านของพระนางซูสีไทเฮา รวมทั้งในสมัยฮ่องเต้องค์สุดท้าย เมื่อครั้งที่ ดร.ซุนยัดเซ็นทำการปฏิวัติ จักพรรดิปูยีก็ทรงสละราชบัลลังก์ในปี ค.ศ. 1962 ณ ตำหนักแห่งนี้
สำหรับประตูทางเข้าด้านหน้าของพระราชวังหลวงหลังพลับพลาเทียนอันเหมิน ทางด้านทิศใต้ของพระราชวังจะมีซุ้มประตูไถ่เหอ แนวกำแพงวังประกอบด้วยประตูใหญ่อยู่ตรงกลาง ประตูเล็ก 2 ข้าง รวม 3 ประตู ประตูมีความลึกถึง 28 เมตร ประตูใหญ่ตรงกลางเป็นประตูเข้าเฉพาะฮ่องเต้เพียงพระองค์เดียว คนอื่นห้ามเดินออกเด็ดขาด ใครฝ่าฝืนเดินออกจะถูกประหารชีวิต คนอื่นเดินออกได้เพียงประตูเดียวเท่านั้น คือประตูด้านทิศเหนือชื่อ “เสินอู่เหมิน” (ประตูหลัง)
ประตูใหญ่ตรงกลาง ในชั่วชีวิตของพระราชินีมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่จะได้เดินผ่านเข้าประตูนี้คือ วันอภิเษกสมรส นอกนั้นขุนนางและพระราชวงศ์ทุกพระองค์จะเดินเข้าพระราชวังทางประตูเล็กทั้งสองข้างเท่านั้น
แม้ว่าประเทศจีนจะไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว พระราชวังต้องห้ามก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศจีน และภาพประตูเทียนอันเหมินก็ยังปรากฏอยู่ในตราประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย นอกจากนี้ พระราชวังต้องห้ามยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งไม่นานมานี้ ทางรัฐบาลจีนได้มีนโยบายจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวเพื่อจะอนุรักษ์สภาพของอาคารและสวนหย่อมไว้
พระราชวังฤดูร้อน อี้เหอหยวน
ตั้งอยู่ในเขตไห่เตี้ยน ห่างจากตัวเมืองปักกิ่งไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 15 กิโลเมตร พระราชวังแห่งนี้เป็นวังกึ่งอุทยานที่สวยงามมาก สร้างขึ้นประมาณ 800 ปีแล้วสมัยราชวงศ์จิ๋น แต่ผู้ที่ทำให้สิ่งก่อสร้างในนี้สวยงามเป็นที่เลื่องลือ ก็คือพระนางซูสีไทเฮาแห่งราชวงศ์ชิง อันเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน ชื่อเดิมมีเปลี่ยนกันไปหลายชื่อ แต่พระนางตั้งชื่อให้ใหม่ว่า อี้เหอหยวน แปลว่าอุทยานเพื่อพลานามัยอันผสมกลมกลืนกันได้ด้วยดี
เมื่อเดินเข้าไปในบริเวณ สิ่งแรกที่เห็นคือทะเลสาบกว้างใหญ่ ซึ่งเกิดจากแรงงานคนขุดขึ้นมา แล้วเอาดินที่ขุดพูนขึ้นไปเป็นเนินเขาข้างทะเลสาบนั้นเอง ผู้สร้างคือฮ่องเต้เฉียนหลง ใช้ในการฝึกซ้อมทัพเรือ
สวนสาธารณะ "อี้เหอหยวน" หรือวังฤดูร้อน ตั้งอยู่ในเขตชานเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง เป็นพระราชอุทยานที่มีทัศนียภาพที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง มีเนื้อที่ทั้งหมด 2.9 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นทะเลสาบคุนหมิง ประกอบด้วยเนื้อที่ที่เป็นนํ้า 3 ส่วน เนื้อที่ที่เป็นดิน 1 ส่วน
เมื่อศตวรรษที่ 12 จักรพรรดิองค์หนึ่งแห่งราชวงศ์จินทรงมีพระราชโองการให้สร้างที่ประทับแรมขึ้นที่นี่เป็นครั้งแรก ต่อมาในหลายราชวงศ์มีการสร้างเสริมเติมต่อหลายครั้ง พระจักรพรรดิเฉียงหรงแห่งราชวงศ์ชิงทรงมีพระราชโองการให้สร้างขยายอุทยานแห่งนี้ให้กว้างออกไปและทรงให้ชื่อว่า อุทยาน "ชิงอีหยวน" เมื่อ ค.ศ. 1860 อุทยานแห่งนี้ถูกทหารพันธมิตร อังกฤษ - ฝรั่งเศสเผาทําลาย ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1888 พระนางซูสีได้ใช้งบประมาณกองทัพเรือของชาติซี่งเป็นเงินแท่ง 5 ล้านตําลึงมาสร้างอุทยานนี้ขึ้นใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น "อี้เหอหยวน" อุทยานนี้มีชื่อเลื่องลือไปทั่วโลก ก็ด้วยมีทิวทัศน์สวยงาม
อุทยานอี้เหอหยวนประกอบด้วยสองส่วนคือ เขา "ว่านโซ่วซาน" และ ทะเลสาบ "คุนหมิงหู" บนเขาว่านโซ่วซานได้สร้างวิหาร ตำหนัก พลับพลา และเก๋งจีนอันงดงามไว้หลายรูปหลายแบบ ตั้งอยู่ลดหลั่นรับกันกับภูมิภาพ ที่เชิงเขามีระเบียงทางเดินที่มีระยะทางไกลถึง ๗๒๘ เมตร ลัดเลาะไปตามริมทะเลสาบคุนหมิงหู ในทะเลสาบคุนหมิงหูมีเกาะเล็ก ๆ เกาะหนึ่ง มี สะพาน 17 โค้งอันสวยงามเชื่อมติดกับฝั่ง ทั่วทั้งอุทยานจัดไว้ได้สัดส่วนงดงามตระการตาซึ่งแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของศิลปะในการสร้างอุทยานของจีน
ปีค.ศ.1860 สวนชิงอีหยวนถูกเผาทำลายโดยกองทหารอังกฤษและฝรั่งเศส ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในปีค.ศ.1866 และเปลี่ยนชื่อมาเป็น 'อี๋เหอหยวน' ต่อมาได้ถูกกองทหารพันธมิตรของมหาอำนาจจักรวรรดินิยม 8 ประเทศ เผาทำลายอีกครั้งในปีค.ศ.1900 หลังจากนั้นราว 3 ปี จึงมีการบูรณะขึ้นอีกครั้ง
ปีค.ศ.1908 ภายหลังที่พระนางซูสีไทเฮาและจักรพรรดิกวงสูเสด็จสวรรคต พระราชวังฤดูร้อนที่ผ่านมรสุมมายาวนานก็ได้ยุติการรับใช้ราชสำนักชิง และเมื่อปีค.ศ.1911 ปีที่การปฏิวัติซินไฮ่ ล้มล้างราชสำนักแมนจูอุบัติขึ้น ‘สวนแห่งราชสำนักอี๋เหอหยวน’ ก็ได้ปิดฉากลง ตามการล่มสลายของราชวงศ์ชิง ก่อนที่จีนจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ และได้รับการประกาศเป็นสวนสาธารณะในปี ค.ศ. 1924 โดยอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเที่ยวชมได้
จัตุรัสเทียนอันเหมิน ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่งประเทศจีน มีพื้นที่ทั้งหมด 440,000 ตารางเมตร ความหมายของเทียนอันเหมิน คำว่า ‘เทียน’ แปลว่า ฟ้า ‘อัน’ แปลว่า ผาสุก ‘เหมิน’ แปลว่า ประตู
จัตุรัสเทียนอันเหมินมีความสำคัญในวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่เป็นสัญญลักขณ์เพราะว่าจัตุรัสเทียนอันเหมินคือที่ตั้งของเหตุการณ์สำคัญมากมายในประวัติศาสตร์จีน จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นจัตุรัสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ประตูเทียนอัน หรือเทียนอันเหมิน เดิมทีเป็นประตูหน้าของพระราชวังสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1417 มีชื่อเดิมว่า "เฉิงเทียนเหมิน" หลังซ่อมแซมใหม่ในสมัยจักรพรรดิซุ่นจื้อแห่งราชวงศ์ชิง ในปี ค.ศ. 1651 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเทียนอานเหมิน จากประตูนี้ เราสามารถเดินทะลุเข้าวังโบราณได้ ลักษณะของประตูวังเก่าแห่งนี้ เป็นกำแพงใหญ่ ชั้นบนสร้างเป็นเก๋งหลังคาสีเหลือง มีเสากลมสีแดง 10 ต้น เพื่อให้เกิดเป็นช่วงระหว่างเสา 9 ช่อง ตามตัวเลขทรงโปรดของจักรพรรดิ ชั้นล่างเป็นช่องประตูทรงเกือกม้า 5 ช่อง มีภาพเหมือนสีน้ำมันขนาดใหญ่ของประธานเหมา เจ๋อ ตุง ติดตั้งเหนือประตูกลางสองข้างของภาพนี้ มีคำขวัญเขียนว่า "ประชาชนจีนจงเจริญ" และ "ประชากรโลกจงเจริญ" เป็นคำพูดของ ท่านเหมา เมื่อครั้งกล่าวคำปราศรัยบนพลับพลาเทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมค.ศ. 1949 ซึ่งเป็นวันสถาปนาประเทศจีนใหม่หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า "สาธารณรัฐประชาชนจีน" และได้ถือเอาวันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันชาติตลอดมาจวบจนปัจจุบันบริเวณหน้าเทียนอันเหมิน มีสะพานหินที่แกะสลักลวดลายสวยงามเรียงขนานกัน 5 สะพานด้วยกัน มีสิงโตหินขนานใหญ่ ยืนเป็นยามรักษาประตูอีก 1 คู่ สำหรับสิงโตคู่ที่วางประดับหน้าตำหนักและอาคารบ้านเรือนทั่วไป จะมีตำแหน่งการจัดวางที่ตายตัว โดยตัวผู้จะถูกวางทางซ้าย ตัวเมียอยู่ทางด้านขวาเสมอ
จัตุรัสเทียนอันเหมินล้อมรอบด้วยสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญ ได้แก่ หอประตูเทียนอันเหมินที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของจัตุรัส ธงแดงดาว 5 ดวงผืนใหญ่โบกสะบัดอยู่เหนือเสาธงกลางจัตุรัส อนุสาวรีย์วีรชนใจกลางจัตุรัส มหาศาลาประชาคมด้านทิศตะวันตกของจัตุรัส ตลอดจน พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาติจีนทางฝั่งตะวันออก นอกจากนี้ทางด้านทิศใต้ยังมี หอรำลึกท่านประธานเหมาและหอประตูเจิ้งหยางเหมิน หรือเฉียนเหมิน
ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติมากกว่าพันๆคนมาเยี่ยมชมจัตุรัสเทียนอันเหมินและอาคารสถาปัตยกรรมบริเวณจัตุรัสแห่งนี้ทุกวัน โดยเฉพาะการชมพิธีอัญเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาและลงจากยอดเสาของกองทหารในเวลาเช้าและเย็น
กำแพงเมืองจีน หรือแปลว่า Great wall ในภาษาอังกฤษ และมันเป็นกำแพงที่แทบทุกคนในโลกรู้จักกันดี มีนักท่องเที่ยวนับล้านคนไปเยือนกำแพงเมืองจีนแห่งนี้ทุกปี มันเป็นอนุสาวรีย์ทางประวัติศาสตร์ที่ยาวกว่าอนุสาวรีย์ใดๆที่เคยสร้างมาในประวัติโลก และเป็นผลงานทางด้านวิศวกรรมที่ยิ่งที่สุด เป็นรองก็แค่เพียงมหาปิรามิดแห่งกิซ่า กำแพงเมืองจีนเริ่มก่อสร้างเมื่อประมาณ สองพันกว่าปีมาแล้ว และมันก็ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน หลายล้านคนได้ตายไปในการก่อสร้างกำแพงเมืองจีน จนมันได้ฉายาว่า “สานที่ยาวที่สุดในโลก”
กำแพงเมืองจีนมีความยาวรวมทั้งสิ้นกว่า 4,000 ไมล์(กว่า 6,400 กิโลเมตร) โดยมันเริ่มตั้งต้นที่ชายฝั่งของแม่น้ำเหลือง ทอดผ่านขุนเขาตอนเหนือของปักกิ่ง เข้าสู่ดินแดนใจกลางภาคเหนือของประเทศจีน มันมีปราสาทที่แข็งแกร่งและหอเฝ้ายามตามเส้นทางภูเขาที่สำคัญ กำแพงเมืองจีนยาวตลอดถึงแนวฝั่งแม่น้ำสายใหญ่ๆ แล้วทอดผ่านทะเลยทรายที่ร้างจากผู้คนไปอีกหลายพันกิโลเมตร และกำแพงเมืองจีนไปสิ้นสุดที่เหนือแม่น้ำขาว
แต่ก็มีการค้นพบใหม่ๆว่า จริงๆแล้วกำแพงเมืองจีนนั้นที่ถูกสร้างขึ้นทั้งหมดนั้นหากนำมาวางต่อกันจะยาว 35,000 ไมล์ ซึ่งเท่ากับ 56,000 กิโลเมตร ซึ่งความยาวขนาดนี้แทบจะนำมาพันรอบโลกได้ 2 รอบ ซึ่งจุดประสงค์ในการการก่อสร้างกำแพงเมืองจีนที่ยิ่งใหญ่และสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาลก็เพื่อ ป้องกันการรุกรานของฝูงชนเร่ร่อนแห่งทุ่งราบตอนเหนือก็คือพวก มองโกล ฮั่น และ แมนจู ที่มักจะมาปล้น ฆ่า และเผาทำลายหมู่บ้านชาวจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวจีนจะเรียกคนพวกนี้ว่า “คนเถื่อน”
การสร้างกำแพง ฝังรากลึกลงในจิตใจของชนชาวจีน จนตัวอักษรคำว่า “เมือง” ในภาษาจีน เป็นตัวอักษรเดียวกับคำว่า “กำแพง”
กำแพงเมืองจีนถูกสร้างขึ้นในสมัยจิ๋น ซี ฮ่องเต้ ซึ่งคำว่า ประเทศ “จีน” ก็ถูกตั้งตามชื่อของจักรพรรดิ จิ๋น ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์แรกแห่งประเทศจีน นี่เอง พระองค์เริ่มก่อสร้างกำแพงเมืองจีนเมื่อช่วง 200 ปี
ก่อน คริสต์กาล โดยกำแพงเมืองจีนเริ่มจากเมืองหลินเทาซึ่งอยู่ภาคกลางของประเทศ ผ่านทะเลทรายข้ามเทือกเขาและที่ราบ ยาวตลอดมาถึงชายแดนเกาหลี ซึ่งกำแพงเมืองจีนที่มีความยาวกว่า 6,400 กิโลเมตรนั้นถูกสร้างขึ้นโดยใช้เวลาเพียง 12 ปี โดยมีขนาดความสูง 9.6 เมตร กว้าง 4.5 เมตร ในตอนแรกกำแพงเมืองจีนแห่งนี้สร้างขึ้นจากหินเมื่อไปถึงทะเลทรายมันก็เปลี่ยนเป็นอิฐที่ทำจากโคลน
ในตอนแรกๆของผู้สร้างกำแพงเมืองจีนนั้น จิ๋น ซี ฮ่องเต้ ปกครองแคว้นเล็กๆ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนแต่แค่นั้นยังไม่พอ จิ๋น ซี ฮ่องเต้ก็ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพขึ้นเรื่อยๆและพิชิตเมืองเพื่อนบ้านน้อยใหญ่ และเมื่อทั้งจีนอยู่ใต้การปกครองของ จักรพรรดิพระองค์นี้ พระองค์ได้ตั้งมารตฐานระบบการวัด สร้างเงินตราสกุลแรกของโลก แต่ถึงแม้พระองค์จะทรงทำประโยชน์ให้กับจีนอย่างมาก แต่พระองค์ก็เป็นจอมเผด็จการที่ชั่วร้าย โดยในช่วงเริ่มแรกหลังจากรวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่นดีแล้วจักรพรรดิจิ๋นก็ส่งทหารสามแสนนายไปยังชายแดนทางเหนือเพื่อขับไล่พวกเร่ร่อนที่เคยคุกคามพระเทศจีน แต่หลังจากที่ชนะสงครามแล้ว จักรพรรดิก็สั่งให้ทหารอยู่ที่นั่นต่อเพื่อสร้างกำแพงเมืองจีน พร้อมกับชาวบ้านอีกกว่า 5 แสนคน
กำแพงเมืองจีนนั้นแม้จะสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนชาวจีนอย่างมาก แต่มันแลกมาด้วยความเหนื่อยยาก และชีวิตนับล้านที่ต้องตายเพราะหมดแรง จนมีคนบอกว่า จำนวนคนที่ตายเพราะสร้างกำแพงเมืองจีนนั้นมากมายมหาศาลจนทำให้ปูนที่ใช้สร้างกำแพงกลายเป็นสีขาวเพราะเถ้ากระดูกเลยทีเดียว
การก่อสร้างกำแพงเมืองจีน
ช่วงที่หนึ่งของการสร้างกำแพงเมืองจีนถูกสร้างขึ้นด้วยดินอัดแข็งซึ่งยังคงเป็นเทคนิคซึ่งยังใช้อยู่ทุกวันนี้ในชนบทของจีน โดยขั้นตอนแรกนั้นวางไม้กระดานเรียงขนานกันให้กว้างเท่ากับความหนาของกำแพง จากนั้นตักดินใส่ตรงกลางระหว่างช่องว่างของไม้กระดาน พรมน้ำลงไปแล้วอัดให้แน่นด้วยการเหยียบของคน จากนั้นก็เรียงไม้ให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วกำแพงก็สูงขึ้นทีละชั้น ซึ่งวิธีการสร้างกำแพงแบบนี้ประหยัดและเร็วกว่ากำแพงที่สร้างด้วยหินนับร้อยเท่า จักรพรรดิจิ๋น จึงสามารถสร้างกำแพงเมืองจีนยาว 6,500 กิโลเมตรเสร็จภายในเวลาเพียงแค่ 12 ปีเท่านั้น ซึ่งกำแพงเมืองจีนที่สร้างขึ้นมานั้นสามารถอยู่มาได้จนถึงปัจจุบันแม้จะผ่านมามากกว่า 2,200 ปีแล้วก็ตาม
ช่วงที่สองของการสร้างกำแพงเมืองจีน : แม้ว่าจักรพรรดิจิ๋นจะสร้างกำแพงเมืองจีนด้วยเลือดและชีวิตของประชาชน แต่ราชวงศ์ใหม่ “ฮั่น” ที่ปกครองประเทศจีนหลังจากจักรพรรดิจิ๋นสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ก็ได้สานต่องานสร้างกำแพงเมืองจีนต่อในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 โดยราชวงศ์ฮั่นในตอนนั้นได้สร้างกำแพงเมืองจีนที่มีความยาวกว่า 10,720 กิโลเมตร ซึ่งมันยาวกว่ากำแพงเมืองจีนที่จักรพรรดิจิ๋นทรงสร้างขึ้นในตอนแรกเกือบ 3, 500 กิโลเมตร กำแพงของราชวงศ์ฮั่นถูกสร้างขึ้นด้วย ทรายที่นำมาอัด กิ่งไม้พุ่ม และปุ๋ยขี้ม้า
ช่วงที่สามของการสร้างกำแพงเมืองจีน : ในช่วงสมัยของราชวงศ์หมิง ได้มีการก่อสร้างกำแพงเมืองจีนช่วงที่ 3 ซึ่งในการสร้างครั้งนี้ เป็นการสร้างกำแพงเมืองจีนที่ยิ่งใหญ่กว่าการสร้าง 2 ครั้งแรกที่ผ่านมาของจักรพรรดิจิ๋นและ ราชวงศ์ฮั่น กำแพงเมืองจีนของราชวงศ์หมิงสร้างขึ้นด้วยหิน กำแพงเมืองจีนของราชวงศ์หมิงนี้ทอดยาวจากซานไฮกวานที่ทะเลเหลือง ถึง ไจยูกวานในทะเลทรายโกบี มันพาดผ่านประเทศจีนเหมือนกระดูสันหลังที่คดเคี้ยวมีความยาวเกือบ 6,500 กิโลเมตร พร้อมกับหอคอยอีกนับพัน เพื่อป้องกันการบุกรุกของพวกคนเถื่อน โดยการกำแพงเมืองจีนจากหินนั้นต้องใช้แรงงานและงบประมาณมากกว่าการสร้างกำแพงด้วยอิฐโคลนหลายร้อยเท่า ซึ่งแรงงานที่นำมาใช้เพื่อสร้างกำแพงหินนี้มาส่วนใหญ่มาจากเหล่านักโทษ ซึ่งถ้าหากว่านักโทษคนใดตายระหว่างการก่อสร้าง สมาชิกคนอื่นในครอบครัวจะถูกนำมาเพื่อก่อสร้างกำแพงเมืองจีนแทนคนที่ตายไปจนกว่าจะครบโทษ
การป้องกันผู้รุกรานของกำแพงเมืองจีน
ด้วยความที่กำแพงเมืองจีนนั้นยาวมาก จนไม่สามารถที่จะทำให้มีทหารเฝ้าตลอดความยาวของแพงได้ ชาวจีนจึงใช้วิธีส่งสัญญาเพื่อแจ้งข่าวถ้าหากมีการบุกรุกเช้ามา โดยใช้ควัน ซึ่งข่าวสารสามารถส่งต่อไปได้ไกล 700 ไมล์ ในเวลาแค่ 24 ชม.โดยทหารที่อยู่ในแต่ละป้อมจะคอยสังเกตและมองหาสัญญาณไฟตลอดเวลา ซึ่งถ้าหากทหารที่ป้อมเห็นสัญญาควันไฟ ทหารคนนั้นก็จะจุดควันไฟต่อเพื่อให้ทหารที่อยู่ป้อมถัดไปได้เห็นเป็นทอดๆ ไปอย่างนี้เรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเมืองหลวง โดยแต่ละป้อมจะถูกสร้างเพื่อให้ป้อมที่อยู่ใกล้ที่สุดเห็นได้ชัดเจน
ชาวจีนเชื่อว่ากำแพงเมื่องจีนซึ่งสร้างโดยคนงานนับล้านคนจะปกป้องพวกเขาไปตลอดกาล แต่แล้วก็มีการบุกปล้นปักกิ่งในปี ค.ศ. 1644 โดยทหารฝ่ายกบฏพวกหนึ่ง ในความวุ่นวายที่ตามมา แมนจูชนเผ่าเร่ร่อนเผ่าหนึ่งจึงได้คิดที่จะนำกองทัพใหญ่บุกประเทศจีน ในช่วงที่เกิดความวุ่นวายนี้ แต่ทว่ากำแพงเมืองจีนเป็นอุปสรรคที่สำคัญของพวกแมนจู แต่เรื่องที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อนายพลคนหนึ่งของกองทัพจีนที่ได้มีการตกลงกันลับๆกับพวกแมนจู ได้สั่งเปิดประตูของกำแพงเมืองจีนปล่อยให้กองทัพของพวกแมนจูเข้ามาเพื่อยึดเมืองหลวง
กำแพงเมืองจีนช่วยปกป้องเส้นทางการค้า
นอกจากการป้องกันการรุกรานจากพวกคนเถื่อนแล้ว กำแพงเมืองจีนยังทำให้การค้าของจีนในแนว “ถนนสายไหม” ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ ปลอดภัยยิ่งขึ้นอีกด้วย และเมื่อการค้ามีความมั่นคงขึ้น ประเทศจีนจึงร่ำรวยจากการค้านี้
กำแพงเมืองจีนกับชาวยุโรป
ในปี 1793 อังกฤษได้ส่งคณะสำรวจทางการฑูตไปยังประเทศจีนนำโดยลอร์ดแม็คคาร์ทนีย์เพื่อพยายามเปิดเส้นทางการค้าให้กับประเทศอังกฤษ และเมื่อลอร์ดแม็คคาร์ทนีย์แวะชมกำแพงเมืองจีน ก็ทำให้เขาถึงกับทึ่งในความยิ่งใหญ่ของมันซึ่งทำให้ไกด์ชาวจีนของเขาก็งงงวยทำไมถึงมีใครสนใจกองหินโบราณด้วย
หลังจากการปฏิเสธของจักรพรรดิจีนที่จะค้าขายกับประเทศอังกฤษ จึงทำให้ประเทศอังกฤษถือโอกาสนี้ในการทำสงครามกับประเทศจีน และด้วยความที่ประเทศจีนในตอนนั้นล้าสมัยทางด้านอาวุธกว่าชาวอังกฤษมากจึงทำให้ไม่สามารถต่อต้านการบุกยึดของประเทศอังกฤษได้ การรบในครั้งนี้ข้าศึกของประเทศจีนไม่ได้มาจากทางเหนือนอกกำแพงเมืองจีน แต่ข้าศึกมาจากทางทะเล เป็นผลให้อาณาจักรจีนล่มสลาย